Sunday, March 15, 2009

“ชัยวุฒิ” จี้ สทศ.เร่งเครื่องประชาสัมพันธ์ GAT, PAT ให้แพร่หลาย

“ชัยวุฒิ” จี้ สทศ.เร่งเครื่องประชาสัมพันธ์ GAT, PAT ให้แพร่หลาย เผย ไม่คัดค้านมหาวิทยาลัยรับตรงมากขึ้น ระบุเข้าใจดีว่าแต่ละสถาบันอยากได้นิสิตนักศึกษาที่ตรงกับความต้องการ

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังร่วมประชุมบอร์ดสถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) ว่า สทศ.รับภาระหน้าที่ในการสอบ GAT, PAT ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2553 โดยจะเริ่มสอบครั้งแรกวันที่ 7-8 มีนาคมนี้ แต่มีหลายคนยังไม่ค่อยรู้ เพราะฉะนั้น สทศ.ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทราบอย่างแพร่หลาย โดยประสานขอความร่วมมือจาก สพฐ. ผอ.เขต สพท.ซึ่งเหตุผลที่ก่อนหน้าที่ สทศ.ไม่กล้าประชาสัมพันธ์เพราะเกรงว่าจะทำให้เด็กเกิดความสับสนกับ A-NET ซึ่งใช้เป็นปีสุดท้าย

ทั้งนี้ ให้เด็ก ม.5 และ ม.6 สมัครสอบ GAT, PAT ได้ 3 ครั้ง โดยเลือกคะแนนครั้งที่ดีที่สุดมาเป็นส่วนประกอบในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการบางท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อสอบแต่ละครั้งจะมีความยากง่ายต่างกัน ขอยืนยันว่า การออกข้อสอบทุกครั้งมาตรฐานเดียวกัน เพราะว่า สทศ.จะมีคลังข้อสอบ โดยคณะกรรมการจะออกข้อสอบ ง่าย ปานกลาง ยาก แล้วเวลาเลือกข้อสอบจะเลือกคละกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นกังวลอยากเตือนนักเรียน ว่า การสอบ GAT, PAT ไม่จำเป็นต้องสอบครบทั้ง 3 ครั้ง และทุกวิชา นักเรียนเลือกวิชาที่คิดว่าพร้อม จะได้ไม่เสียเงินไปติว

ส่วนเรื่องมหาวิทยาลัยแห่งไหน ต้องการเปิดรับตรงเพื่อคัดเลือกเด็กให้ตรงกับสาขา หรือคณะ ขอให้นำคะแนนการสอบ GPAX, GAT, PAT และอื่นๆ มาใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก แต่อาจให้มหาวิทยาลัยปรับสัดส่วนคะแนน GPAX, GAT, PAT ซึ่งไม่จำเป็นต้องคะแนนเท่ากัน เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้เด็กตามคุณสมบัติที่จะเรียนในคณะ สาขา แต่คงไม่ให้มหาวิทยาลัยจัดดำเนินการสอบคัดเลือกเอง โดยยกเว้นหลักสูตรพิเศษ เช่น INTER ที่ให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้คัดเลือกเอง

“ยอมรับว่า ปัญหาการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยนั้น มีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ต้องปรับปรุงให้ระบบการคัดเลือกเด็กได้ตรงสาขามากที่สุด อาจจะใช้วิธีดูผลสอบ GAT, PAT และอื่นๆ โดยมหาวิทยาลัยบางแห่งอาจให้น้ำหนัก ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิต สูงกว่าแห่งอื่น คือไม่จำเป็นต้องใช้คะแนนเท่ากัน”

นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า จะผลักดันให้ สทศ.มีบทบาทระดับชาติ บริษัทเอกชน หน่วยงานรัฐบาล ยอมรับโดยใช้ผลสอบเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกเข้าทำงาน ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนกว่า 200 แห่ง จะนำผลสอบ O-NET ป.6 มาประกอบการคัดเลือกเด็ก ม.1

No comments:

Post a Comment