Wednesday, April 29, 2009

นโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ

ตามที่รัฐบาล ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนตำราเรียน ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ที่โรงเรียนฯ ได้เรียกเก็บจากผู้ปกครองนักเรียน ในปีการศึกษา 2552 นั้น
โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ขอเรียนชี้แจง และทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการข้างต้นว่า โครงการ เรียนฟรี 15 ปี ตั้งแต่ระดับชั้น อนุบาล – ม.6 ในส่วนของโรงเรียนเอกชนนั้น ไม่ได้หมายความว่านักเรียนทุกคน ได้เรียนฟรี โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายใด ๆ เลย แต่ เป็นเพียงการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเป็นบางส่วนเท่านั้น สำหรับปีการศึกษา 2552 มีรายละเอียดการให้การอุดหนุนจากรัฐบาลและแนวปฏิบัติของทางโรงเรียนฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่ายแล้ว ดังนี้ เรียนฟรี 15 ปี

จุฬาฯ ใช้คะแนนPATเดือนก.ค.และต.ค.

    (ED)จุฬาฯ ใช้คะแนนPATเดือนก.ค.และต.ค.

    ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่จุฬาฯ เปิดรับตรงปีการศึกษา 2553 ในคณะวิชาต่างๆ โดยกำหนดที่จะใช้คะแนนจากแบบทดสอบศักยภาพทั่วไป หรือ GAT และแบบทดสอบศักยภาพทางวิชาชีพ/วิชาการหรือ PAT โดยใช้คะแนนการสอบในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นการสอบครั้งที่ 2 นั้น ปรากฏว่าได้รับเสียงคัดค้านจากผู้ปกครองนักเรียนจำนวนมาก บางรายก็จะฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพราะเห็นว่าเป็นการตัดสิทธิเด็ก เพราะเด็กยังมีความรู้ด้านวิชาการไม่เพียงพอ ซึ่งจุฬาฯ ก็รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย

    ดังนั้นในการสอบตรงปกติปีการศึกษา 2553 ของจุฬาฯ จะเปิดโอกาสให้นักเรียนนำคะแนนGAT และ PAT ที่สอบในเดือน ก.ค.หรือครั้งที่ 2 และ การสอบเดือน ต.ค.ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 โดยนำคะแนนที่ดีที่สุดมาใช้ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กอย่างเต็มที่ โดยจุฬาฯ หารือที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. ซึ่งเข้ามารับผิดชอบในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาหรือ แอดมิชชั่นส์ แทนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้ว ทปอ.ยินดีที่จะเลื่อนเวลาในการส่งรายชื่อระบบรับตรงจากเดิมคือวันที่ 31 ม.ค.2553 เป็นวันที่ 15 มี.ค.2553 ดังนั้นสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติหรือ สทศ. ก็สามารถตรวจข้อสอบและประกาศผลGAT และ PAT ครั้งที่ 3 ได้ทัน ดังนั้นการรับตรงปกติของ จุฬาฯ ก็จะให้สิทธิเด็กนำคะแนนครั้งที่ 2หรือ 3 มาใช้ เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับเด็ก

    “ส่วนการรับตรงแบบพิเศษ เช่น จุฬาฯชนบท การคัดเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านกีฬา ศิลปะ เป็นการคัดเลือกที่ต้องดำเนินการค่อนข้างเร็ว ก็จะใช้คะแนนGAT และ PAT ครั้งที่ 2 เท่านั้น หากเด็กไม่ผ่านการคัดเลือกระบบรับตรงแบบพิเศษ ก็ยังมีสิทธิมาสมัครรับตรงปกติ และใช้คะแนน GAT และ PAT ครั้งที่ 3 มาสมัครได้ด้วย ซึ่งจุฬาฯทำทุกอย่างเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับเด็ก ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิเด็กอย่างที่ผู้ปกครองบางกลุ่มเข้าใจ และหากสอบรับตรงไม่ได้ ก็ยังสามารถสมัครสอบแอดมิชชั่นส์กลางได้อีก” ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา กล่าว

    ทั้งนี้ ระบบรับตรงของจุฬาฯ เลียนแบบมาจากการรับแอดมิชชั่นส์ โดยเด็กสามารถทราบคะแนนของตนเองก่อนเลือกคณะ ไม่ได้อยู่ในความมืดโดยไม่รู้ว่าตนเองมีคะแนนเท่าใด ก่อนการเลือกคณะ และรู้สึกสบายใจที่ใช้ระบบนี้ ทั้งยังเปิดโอกาสให้เด็กได้หลายครั้งด้วย

ที่มา : http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=376169&lang=T&cat=

Friday, April 10, 2009

สทศ.ประกาศวันสมัครสอบ GAT-PAT

สทศ.ประกาศวันสมัครสอบ GAT-PAT

ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า จากการที่ สทศ.จัดการสอบ GAT และ PAT ครั้งที่ 2 เดือน ก.ค. 2552 สทศ.เปิดโอกาสให้ผู้ที่สมัครสอบแล้วและจะสมัครใหม่ เลือกสนามสอบได้ด้วยตนเองในวันที่ 20 เม.ย.ถึงวันที่ 10 พ.ค.นี้ แบ่งผู้สมัครออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก สมัครสอบแล้วและไม่ประสงค์จะสมัครเพิ่มวิชา ให้เลือกสนามสอบวันที่ 20 เม.ย.ถึง 12 พ.ค.

กลุ่มที่ 2 เคยสมัครแล้วและต้องการเพิ่มวิชาสอบ สมัครได้วันที่ 20 เม.ย.ถึง 2 พ.ค. เลือกสนามสอบวันที่ 20 เม.ย.ถึง 12 พ.ค.

โดยกลุ่มที่ 1 และ 2 จะแบ่งวันเลือกสนามสอบตามพื้นที่ ดังนี้

กรุงเทพฯ เลือกสนามสอบวันที่ 20-21 เม.ย.

ภาคกลาง ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา, อ่างทอง, ลพบุรี, สิงห์บุรี, ชัยนาท, นครนายก, สระบุรี, นครสวรรค์, อุทัยธานี, กำแพงเพชร, สุโขทัย, พิษณุโลก, พิจิตร, เพชรบูรณ์, สุพรรณบุรี, นครปฐม, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม เลือก สนามสอบวันที่ 22-23 เม.ย.

ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ได้แก่ จ.ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ตาก, ราชบุรี, กาญจนบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ เลือกสนามสอบวันที่ 24-25 เม.ย.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลือกสนามสอบวันที่ 26-27 เม.ย.

ภาคใต้ เลือกสนามสอบวันที่ 28-29 เม.ย.

ภาคเหนือ เลือกสนามสอบ วันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.

หากผู้สมัครกลุ่มที่ 1 และ 2 เลือกสนามสอบไม่ทันตามที่กำหนด สามารถเข้าเว็บไซต์ สทศ. เพื่อเลือกสนามสอบได้อีกครั้งในวันที่ 3-12 พ.ค.

ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นนักเรียน ม.5 ขึ้นไปที่ยังไม่เคยสมัครสอบและประสงค์จะสมัครสอบ รับสมัครตั้งแต่วันที่ 3-10 พ.ค. เลือกสนามสอบ วันที่ 3-12 พ.ค.นี้

“สทศ. เปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกสนามสอบได้เอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักเรียนได้สอบในสนามสอบที่ต้องการ โดย สทศ.เตรียมที่นั่งสอบและสนามสอบไว้เพียงพอผู้เข้าสอบ หากเลยกำหนดการเลือกสนามสอบ สทศ.จะเป็นผู้จัดสนามสอบให้ ดังนั้นขอให้ผู้สมัครสอบ GAT และ PAT ครั้งที่ 2 เข้าเว็บไซต์ สทศ. www.niets.or.th เลือกสนามสอบตามกำหนด ส่วนการสอบครั้งที่ 3 จะเลือกอีกครั้ง” ศ.ดร.อุทุมพรกล่าว.



ที่มา - ไทยรัฐ ปีที่ 60 ฉบับที่ 18706 วันพฤหัสบดี ที่ 9 เมษายน 2552

คัดลอกจาก....

http://www.kruthai.info/board03/show.php?Category=news&No=753

Tuesday, April 7, 2009

กวดวิชา...อาจไม่ใช่คำตอบ

กวดวิชา...อาจไม่ใช่คำตอบ

รายงานโดย :รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย:

ขณะนี้อยู่ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน เป็นช่วงเวลาที่เราจะเห็นเยาวชนในวัยต่างๆ ตั้งแต่อายุต่ำกว่า 10 ขวบ จนถึงอายุประมาณ 18-19 ปี

ที่เดินขวักไขว่ตามโรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนสอนพิเศษต่างๆ เช่น โรงเรียนสอนภาษา โรงเรียนดนตรี โรงเรียนศิลปะ ฯลฯ

หลาย ต่อหลายปีที่ผู้เขียนมีโอกาสสังเกตพฤติกรรมของเด็กๆ ที่มาเรียนกวดวิชา แล้วได้เห็นภาพที่ส่งสัญญาณอันตรายต่ออนาคตของพวกเขาหลายครั้ง คิดขยับจะเขียนเรื่องนี้อยู่หลายหน แต่ก็มีเหตุการณ์อื่นมาแทรกบ้าง และบางทีก็กังวลอยู่เหมือนกันว่า หากเขียนบทความนี้ด้วยความไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะทำให้เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาเข้าใจผิด คิดว่าผู้เขียนตั้งใจทำให้ภาพลักษณ์ของโรงเรียนกวดวิชามัวหมอง อันมีผลกระทบต่อธุรกิจของท่านเหล่านั้นได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนสงกรานต์ปีนี้ก็ขอเขียนเรื่องของเยาวชนและการตัดสินใจของเยาวชนร่วมกับ ผู้ปกครองในการใช้เวลาว่างของวันหยุดสุดสัปดาห์และวันปิดภาคเรียนในการเรียน กวดวิชา หรือเรียนวิชาต่างๆ นอกหลักสูตรปกติที่มีสอนในโรงเรียนทั่วไปว่า มีประเด็นที่ต้องใคร่ครวญอะไรบ้าง จึงจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการกวดวิชา หรือจากการศึกษาหลักสูตรพิเศษต่างๆ นอกโรงเรียน ทั้งนี้จุดมุ่งหมายหลักของผู้เขียนก็คือ เรื่องคุณภาพชีวิตของเยาวชนซึ่งจะเติบใหญ่เป็นกำลังของชาตินั่นเอง

ทำไมจึงต้องกวดวิชา?

สมัย 30 กว่าปีก่อนที่ผู้เขียนอยู่ในวัยศึกษา จำได้ดีว่าสมัยนั้นไม่ค่อยมีโรงเรียนกวดวิชามากนัก จะมีก็แต่การกวดวิชาเพื่อเตรียมสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเตรียมสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น พอวันปิดภาคเรียนพวกนักเรียนทั้งหลายก็ใช้เวลาอยู่บ้านกับผู้ปกครอง ใช้เวลาช่วยงานบ้านบ้าง แล้วก็ไปพักผ่อนตามต่างจังหวัดกับครอบครัว ตัวผู้เขียนเองและเพื่อนๆ หลายคนที่เรียนหนังสือมาด้วยกันไม่เคยต้องเรียนพิเศษเลย จะมีบ้างก็ไม่เกิน 10 คนที่สอบตก หรือไม่ก็เรียนอ่อนมากประมาณว่าเกือบๆ จะสอบตก ที่จำเป็นต้องเรียนพิเศษในช่วงปิดภาคเรียนเพื่อกวดวิชาให้เรียนทันเพื่อนฝูง

ส่วนการเรียนพิเศษอื่นๆ เช่น เรียนเปียโน ศิลปะ หรือกีฬาต่างๆ ก็มีเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ใช้เวลามากนักในแต่ละสัปดาห์ เด็กๆ จึงมีเวลาอยู่บ้านกับผู้ปกครองและพี่น้องคนอื่นๆ มีโอกาสวิ่งเล่นตามแบบเด็กๆ มากพอสมควร

แต่ในปัจจุบันนี้ผู้เขียนเห็นว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเด็กๆ ที่เรียนหนังสือตามโรงเรียนต่างๆ ต้องใช้เวลาหลังเลิกเรียนในชั้นเรียนปกติ และเวลาในวันหยุดสุดสัปดาห์เรียนวิชาต่างๆ ที่โรงเรียนเองเป็นผู้จัดเตรียมไว้ หรือที่ผู้ปกครองพาเด็กไปเรียนเพิ่มเติมเองอีกมากมาย เช่น เรียนภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น ร้องเพลง เต้นบัลเลต์ เรียนการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ เรียนฝึกพูด ฯลฯ เด็กบางคนต้องเรียนทุกวันเลยค่ะ! และพอสอบถามดูปรากฏว่า เด็กหลายคนเป็นเด็กที่ไม่ได้เรียนย่ำแย่ หรือได้เกรดต่ำแต่ประการใด ทั้งนี้ผู้เขียนได้รวบรวมเหตุผลต่างๆ ที่ทำให้เด็กไปโรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนพิเศษ ดังนี้

1.เรียนอ่อนไม่ทันเพื่อนจริงๆ

2.กลัวแข่งขันกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่เรียนพิเศษไม่ได้ ต้องสร้างความมั่นใจ

3.เก่งอยู่แล้ว...แต่อยากเก่งที่ซู้ด

4.สนใจอยากเรียนวิชาต่างๆ เหล่านั้นเพิ่มเติมเอง

5.ผู้ปกครองไม่มีเวลาอบรมดูแล จึงส่งมาไว้ที่โรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนพิเศษต่างๆ โดยหวังว่าเด็กจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และมีครูที่โรงเรียนคอยดูแล

6.เด็กอยู่บ้านเฉยๆ เลยเบื่อ สู้ไปโรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนพิเศษไม่ได้ จะได้เจอเพื่อนฝูง

จะเห็นได้ว่าจากเหตุผลทั้ง 6 ประการดังกล่าวนี้ เป็นเหตุผลที่จำเป็นจริงๆ อยู่เพียง 3 เหตุผลเท่านั้น คือ เรียนไม่ทัน อยากส่งเสริมทักษะความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่เด็กสนใจเป็นพิเศษ และอยากเก่งที่สุดในสาขาที่เก่งอยู่แล้ว นอกนั้นเป็นเหตุผลทางจิตวิทยาและเหตุผลทางสังคมเสียมากกว่า ทำให้ผู้ปกครองหลายคนต้องขวนขวายหาสตางค์มาส่งเสียให้ลูกเรียนทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น เด็กบางคนพอลงจากรถก็ไม่ได้เดินเข้าโรงเรียนกวดวิชาหรอกนะคะ แต่ไปเดินเที่ยวเตร็ดเตร่ กินขนม ดูหนัง เห็นแล้วเสียดายสตางค์แทน แต่แค่เที่ยวเตร่ไม่เรียนก็ยังพอทน บางรายที่เป็นวัยรุ่นก็คบเพื่อนต่างเพศเดินโอบกอดกัน หรือแอบสูบบุหรี่ในซอยที่ลับตาคน แบบนี้แหละที่เห็นแล้วกลุ้มใจแทนผู้ปกครอง เสียทั้งเงินและอาจจะต้องเสียอนาคตของลูกหลานด้วย

การแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา และการใช้เวลาว่างของเยาวชนในบ้านเราจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่าง ผู้ปกครองและสถาบันการศึกษา คำว่าสถาบันการศึกษาไม่ได้หมายความถึงเฉพาะโรงเรียนที่เด็กสังกัดอยู่เท่า นั้น แต่หมายถึงสถาบันการศึกษาทุกแห่งที่มีส่วนรับผิดชอบในการสร้างเยาวชนของชาติ ให้มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติ ค่านิยม และพลานามัยที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อที่จะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และทำตัวเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้

ทุกวันนี้สังคมบ้านเรามุ่งเน้นการแข่งขันชิงเด่นเป็นที่ 1 มากเกินไป ทำให้โรงเรียน ผู้ปกครอง และเด็ก มีค่านิยมที่ต้องแข่งขันมากเกินความพอดี กล่าวคือ เกิดความเครียด ความกลัวว่าตัวเองจะเก่งไม่พอ จะสู้ไม่ได้ จนต้องเรียนอะไรต่อมิอะไรอยู่ตลอดเวลาจนขาดสมดุลของชีวิต ชีวิตเด็กที่มีคุณภาพคือ มีชั่วโมงเรียน ชั่วโมงเล่น ชั่วโมงพักผ่อน ชั่วโมงอยู่กับครอบครัว ชั่วโมงเรียนรู้โลกเพื่อเข้าสังคมและรู้จักโลกในมุมกว้าง และชั่วโมงเรียนรู้ศีลธรรมจรรยาบรรณ

ทั้งหมดนี้ผู้ปกครองและสถาบันการศึกษาต้องปรึกษาหารือกันเพื่อหา วิธีสร้างสมดุลชีวิตให้เด็ก ไม่ใช่มุ่งแต่เรียน เรียน และเรียนในโรงเรียน พอออกจากโรงเรียนก็เดินเข้าโรงเรียนกวดวิชา หรือโรงเรียนพิเศษ ในขณะที่โรงเรียนต้องมีความรับผิดชอบ ผู้ปกครองเองก็ต้องมีความรับผิดชอบเช่นกันในการดูแลลูกหลานของตนเอง ไม่ใช่เห็นโรงเรียนกวดวิชา หรือโรงเรียนพิเศษเป็นสถานรับเลี้ยงและดูแลเด็กแทนตัวเอง นอกจากนี้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลก็น่าจะยื่นมือเข้ามาจัดกิจกรรมช่วงปิดภาคเรียน เพื่อให้ความรู้และการสนับสนุนต่อผู้ปกครองและเด็กๆ ให้มีการใช้เวลาว่างของเด็กให้เป็นประโยชน์ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ปกครองและเด็กพร้อมกันไป โดยไม่ต้องให้ผู้ปกครองควักสตางค์กันจนกระเป๋าแห้งทุกปิดเทอมแบบนี้ มาช่วยกันทำให้ลูกหลานของท่านมีชีวิตวัยเด็กที่มีคุณภาพกันเถิดนะคะ

การลงบัญชีทหารกองเกิน



การลงบัญชีทหารกองเกิน

ชาย ที่มีสัญชาติไทยเมื่อมีอายุย่างเข้า18 ปี (18 ปีบริบูรณ์) ใน พ.ศ. ใด ให้ไปแสดงตน เพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน

(ไปขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน) ณ อำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของตน ภายใน พ.ศ. นั้น (ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค.)

เช่นเกิด พ.ศ. 2524 ต้องไปขึ้นทะเบียนทหารใน พ.ศ. 2541 เมื่อได้ลงบัญชีทหารกองเกินแล้ว ให้ถือว่าเป็นทหารกองเกิน

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ของปีถัดไป

หลักฐานที่ต้องนำมาแสดง

1.บัตรประจำตัวประชาชน

2.สูติบัตร

3.ทะเบียนบ้าน

4.กรณีบิดา , มารดา เป็นบุคคลต่างด้าว จะต้องนำใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไปแสดงด้วย

5.กรณีเปลี่ยนชื่อตัว - ชื่อสกุล จะต้องนำใบสำคัญเปลี่ยนชื่อตัว - ชื่อสกุลไปแสดงด้วย

6.กรณีบุตรบุญธรรม ให้นำหลักฐานการรับบุตรบุญธรรมไปแสดงด้วย